รูปภาพประกอบ |
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษเรื่อง(ศาสตร์พระราชา)แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และนักเรียนกว่า 800 คน
เมื่อวันที่29 ม.ค. 60 ที่จังหวัดเชียงใหม่ผู้สื่อข่าวรายงานเข้ามาว่า. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษเรื่อง "ศาสตร์พระราชา" แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และนักเรียนกว่า 800 คน ที่เข้าร่วมประชุมวิชาการ "การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปีการศึกษา 2559" เมื่อวันเสาร์ที่ 28 มกราคม 2560 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา โดยมีผู้บริหารการศึกษาเข้าร่วมรับฟังบรรยาย อาทิ นายพะโยม ชิณวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายทวนทอง ศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1, นายรตนภูมิ โนสุ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 2, นายศุภกร ศรีศักดา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดเชียงใหม่
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล บรรยายพิเศษตอนหนึ่งว่า จากการที่ได้ตามเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมดังกล่าว เมื่อวานนี้ (27 มกราคม) ทำให้เห็นว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญและสนพระทัยเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารเป็นอย่างมาก โดยได้ทอดพระเนตรการนำเสนอผลการปฏิบัติงานที่ดีของครู และทอดพระเนตรนิทรรศการ จำนวน 6 เรื่อง จากสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนพระปริยัติธรรม ที่ร่วมจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ได้แก่ ด้านโภชนาการและสุขอนามัย ด้านการศึกษา ด้านส่งเสริมอาชีพ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น และด้านบูรณาการโดยพระองค์ได้ทรงซักถามข้อปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งแนวทางการแก้ปัญหา เช่น การบริหารจัดการ งบประมาณ ฯลฯ ทำให้เรารับรู้ได้ว่า พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่มีต่อปวงประชาราษฎร์นั้นยิ่งใหญ่มาก ทำให้เราทราบถึง "ความเป็นราชวงศ์" ของพระองค์อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ขอให้ครูและนักเรียนได้เข้าใจและขยายผลถึงนิยามของ "ศาสตร์พระราชา" ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้มีแนวพระราชดำริในเรื่องต่าง ๆ ไว้จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การรักถิ่นฐาน ความสามัคคี ความไม่ทุจริตคอร์รัปชัน และที่สำคัญคือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของชนชาติไทย ซึ่งมีมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะชาวเชียงใหม่ที่ได้รับการกล่าวขานในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
ซึ่งความอ่อนน้อมถ่อมตนนี้ ถือว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นแบบอย่างที่ดี จึงฝากให้เราน้อมนำศาสตร์พระราชาในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งความอ่อนน้อมถ่อมตนไปประพฤติปฏิบัติ ให้คำนึงว่าเราอย่าสำคัญตน ขอให้เป็นคนเจียมเนื้อเจียมตัว และอย่าลืมว่าที่ผ่านมามีคนรุ่นก่อนเราทำอะไรมามากมายแล้วตั้งแต่เรายังไม่เกิด ดังนั้น การที่เราทำอะไรสำเร็จ ก็เพราะพระคุณของพ่อแม่และครูบาอาจารย์ที่ได้สั่งสอนพวกเรามาทั้งสิ้น จึงฝากข้อคิดในเรื่องนี้ไว้ด้วยว่า "Small is Beautiful" ซึ่งเป็นประโยคที่สวยงามมาก หรือแปลได้ว่า เล็กแต่สวยงาม หรือเล็กแต่กะทัดรัด อาจจะหมายถึงผู้บริหารที่บริหารจัดการเก่ง ด้วยการมีทีมงานที่ดี ไม่ใช่เป็นคนประเภทOne man Show
นอกจากนี้ ในเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชัน ก็เป็นเรื่องสำคัญมากตามศาสตร์พระราชา ด้วยพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะพบคำว่าสุจริตอยู่ในทุกกระแสรับสั่ง เราจึงควรถือว่า "สุจริตสร้างชาติ" เพราะไม่มีประเทศใดในโลกที่กระทำการทุจริตแล้วจะทำให้ชาติเจริญ ซึ่งความซื่อสัตย์สุจริตสร้างชาตินี้ ยังหมายรวมถึงความรับผิดชอบในหน้าที่ ซึ่งต้องมาพร้อมกับอำนาจหน้าที่ แต่หากบางคนใช้อำนาจนำหน้าความรับผิดชอบ ก็ทำให้เสียผู้เสียคนมาเยอะ เช่น ครูที่ใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตด้วยการเฆี่ยนตีเด็กด้วยความรุนแรง เราจึงควรใช้ "ความรับผิดชอบ" นำหน้า "อำนาจหน้าที่" เพื่อให้งานเกิดความสำเร็จมากกว่า
หรือในบางครั้ง "การทำงาน" กับ "วงศาคณาญาติ" ก็ควรแยกจากกัน เมื่อเลิกงานกลับไปถึงที่บ้าน ควรล็อคเรื่องงานไว้ที่ทำงาน อย่านำเรื่องงานไปสร้างความตึงเครียดต่อที่บ้าน ต้องแยกกันให้ได้เด็ดขาด ฉันเดียวกันนั้นก็คือ อย่านำเรื่องที่บ้านมาสู่ที่ทำงาน โดยเฉพาะงานของรัฐ ยิ่งไม่ควรนำวงศาคณาญาติเข้ามาเกี่ยวข้อง จริงอยู่ว่า "ความเป็นญาตินั้นยิ่งใหญ่ แต่ความเป็นไทยต้องยิ่งกว่า" จึงฝากประเด็นนี้ไว้ด้วย
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ได้กล่าวย้ำให้ครูและนักเรียนได้ร่วมกันน้อมนำเรื่องศาสตร์พระราชา เป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศชาติไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งหากสังเกตจะเห็นว่าตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) รัฐบาลก็ได้แฝงซึ่งหลักคิดในเรื่องศาสตร์พระราชาไว้ในแผนดังกล่าว เช่น ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ลูกหลานที่จะเติบโตต่อไปในอนาคตได้ยึดมั่นปฏิบัติตราบนิรันดร์
ดังนั้น หากครูบาอาจารย์และลูกหลานไม่ช่วยกันน้อมนำศาสตร์พระราชาไปประพฤติปฏิบัติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็จะเสด็จฯ จากพวกเราไปอย่างที่เราห้ามไม่ได้ แต่หากเราอัญเชิญคำสอนของพระองค์ท่านมาประทับสถิตเสถียรอยู่ในดวงใจของพวกเราคนไทยทุกคนและช่วยกันปฏิบัติตลอดไป พระองค์ท่านก็ไม่จากพวกเราไปไหน จึงฝากให้ครูบาอาจารย์และลูกหลานทุกคนช่วยกันรักษาความดีงามตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระองค์สืบไปตามข่าว(ภาพ/ข่าว จาก.. PR.กระทรวงศึกษาธิการ มดดำ เมืองพระเจ้าตาก รายงาน)นสพ.แม่เมยโพสต์ออนไลน์นำเสนอข่าวทั่วโลกเข้าไปดูข่าวได้ที่.... www.news-mahachon.com